9/4/08

เมืองหัวหิน

ประวัติเมืองหัวหิน

ก่อนหน้าที่ชื่อหัวหินยังไม่เกิด มีเรื่องเล่าขานกันว่าราวปี พ.ศ. 2377 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พื้นที่เกษตรกรรมบางแห่งของเมืองเพชรบุรีแห้งแล้งกันดารมาก ราษฏรกลุ่มหนึ่งจึงทิ้งถิ่นย้ายลงมาทางใต้ จนมาถึงบ้านสมอเรียงซึ่งอยู่เหนือขึ้นมาจากเขาตะเกียบและบ้านหนองแกหรือบ้าน หนองสะแก ที่บ้านสมอเรียงนี้มีหาดทรายชายทะเลแปลกกว่าที่อื่น

คือมีกลุ่มหินกระจัดกระจายอยู่อย่างสวยงาม ทั้งที่ดินก็มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับทำไร่ทำนาการประมง บรรพชนเหล่านี้จึงเป็นเสมือนผู้ที่ลงหลักปักเสาสร้างบ้านหัวหินขึ้น จนกลายเป็นหมู่บ้านที่เรียกกันแต่แรกว่า “ บ้านสมอเรียง ”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร ต้นราชสกุลกฤดากร)
เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่สร้างตำหนักหลังใหญ่ชายทะเลด้านใต้ของหมู่หิน (ปัจจุบันอยู่ติดกับโรงแรมโซฟิเทลฯ) และประทานชื่อตำหนักว่า “แสนสำราญสุขเวศน์” ต่อมาทรงปลูกอีกหลังหนึ่งแยกเป็น แสนสำราญ และ สุขเวศน์ เพื่อไว้ใช้รับเสด็จเจ้านาย พร้อมกับทรงสร้างเรือนขนาดเล็กใต้ถุนสูงอีกหลายหลัง ซึ่งต่อๆ มาคือ “บังกะโลสุขเวศน์” ทรงขนานนามหาดทรายบริเวณตำหนักและหาดถัดๆ ไปทางใต้เสียใหม่ว่า “หัวหิน” เป็นคนละส่วนกับบ้านแหลมหินเดิม โดยมีกองหินชายทะเลเป็นที่หมายแบ่งเขต ซึ่งบ้านแหลมหินเดิมมีเขตด้านใต้ถึงเพียงแค่ต้นเกดใหญ่ชายทะเล (ปัจจุบันอยู่หน้าโรงแรมโซฟิเทลฯ มีศาลเทพารักษ์ใหญ่) เท่านั้น ไม่ถึงที่ดินของเสด็จในกรมฯ ครั้นเมื่อวันเวลาผ่านไป ชื่อ “หัวหิน” ก็แผ่คลุมทั้งหาดทั้งตำบลจนขยายเป็นอำเภอหัวหิน

ส่วนที่ดินแปลงที่อยู่ตรงหมู่หินชายทะเล เป็นของสมเด็จเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ซึ่งทรงสร้างตำหนักใหญ่ขึ้นถึงสองครั้ง ครั้งแรกคือตำหนักขาว ครั้งหลังคือตำหนักเทาและเรือนเล็กอีกหลายหลัง ซึ่งก็คือบ้านจักรพงษ์ในเวลาต่อมา ปัจจุบันคือโรงแรมเมเลีย ซึ่งได้เปลี่ยนผู้ดำเนินการเป็นโรงแรมฮิลตัน

ใน ช่วงเวลาเดียวกันกับการสร้างพระราชวังไกลกังวล พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต้นราชสกุลบุรฉัตร ก็ได้จัดสร้างตลาดฉัตร์ไชยขึ้นในที่ดินพระคลังข้างที่ โดยออกแบบให้มีหลังคารูปโค้งครึ่งวงกลมต่อเนื่องกัน 7 โค้ง เพื่อสื่อความหมายว่าเป็นการสร้างขึ้นในรัชกาลที่ 7 ทั้งตัวอาคารและแผงขายสินค้าเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ตัวตลาดโล่งอากาศถ่ายเทได้สะดวก และจัดว่าเป็นตลาดที่ถูกสุขลักษณะที่สุดของประเทศไทยในขณะนั้น ชื่อตลาดฉัตร์ไชยนี้มาจากพระนามเดิมของพระองค์ คือพระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากรนั่นเอง ต่อมาตลาดฉัตร์ไชยและโรงแรมรถไฟ หรือโฮเต็ลหัวหินก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของชายทะเลหัวหิน ส่วนพระราชวังไกลกังวลนั้นถือว่าเป็นสถานที่อันควรสักการะบูชา มากกว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

นับตั้งแต่มี การสร้างทางรถไฟสายใต้แล้วเสร็จ เชื่อมต่อกับชายแดนของประเทศมาเลเซีย หัวหินก็มีชื่อเสียงว่าเป็นสถานที่พักตากอากาศอันลือชื่อของไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อน ว่ายน้ำ ตกปลา และตีกอล์ฟเนื่องจากมีสนามกอล์ฟ หัวหินรอยัลกอล์ฟ ซึ่งจัดเป็นสนามกอล์ฟระดับมาตรฐานสากลแห่งแรกของประเทศไทยอีกด้วย

ชื่อ เสียงของหัวหินนั้น เติบโตเคียงข้างมากับโรงแรมรถไฟก็ว่าได้ ต่อมามีการสร้างบังกะโลขึ้นคือ เซ็นทรัลหัวหินวิลเลจ ซึ่งได้ถูกคัดเลือกให้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง “Devil’s Paradise” เช่นเดียวกับโรงแรมรถไฟหัวหิน ซึ่งใช้เป็นฉากถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศเรื่อง “The Killing Fields” โดยเป็นการจำลองสถานที่คือ โรงแรมชั้นนำในกรุงพนมเปญในยุคสงคราม

หัวหิน

หัวหิน นับเป็นสถานที่พักผ่อนตากอากาศที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย จากแต่เดิมที่เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมง และได้ถูกเปลี่ยนแปลงจนกลายมาเป็นสถานที่พักผ่อนติดทะเล ที่ติดอันดับความนิยมของประเทศในตอนนี้ (วู้ว… สุดยอด !!) ปัจจุบัน "หัวหิน" มีที่พัก รีสอร์ท และโรงแรมชั้นนำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรีสอร์ทของชาวบ้านเอง หรือรีสอร์ทที่เป็นระดับห้าดาว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเสน่ห์ของหัวหินยังคงเป็นเอกลักษณ์ดึงดูดนักท่อง เที่ยวให้มาพักผ่อนตลอดทั้งปี

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

รัชกาลที่ 6 โปรดให้รื้อพระตำหนักหาดเจ้าสำราญมาปลูกขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ.2466 ได้รับขนานนามว่า "พระราชนิเวศน์แห่งความรักและความหวัง" ลักษณะเป็นพระตำหนักไม้สองชั้น หันหน้าออกสู่ทะเล พระตำหนักฝ่ายในอยู่ปีกขวา ทางปีกซ้ายเป็นส่วนของฝ่ายหน้า ประกอบด้วยพระที่นั่งสามองค์เชื่อมต่อถึงกันโดยตลอด "พระที่นั่งสุนทรพิมาน" เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ศจี พระวรชายา "พระที่นั่งพิศาลสาคร" เป็นที่ประทับของพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

เป็นหมู่พระที่นั่งตรงกลางประกอบด้วยห้องต่างๆ สำหรับสำราญพระอิริยาบถ ห้องพักข้าราชบริพารที่คอยรับใช้ใกล้ชิด ห้องทรงพระอักษร และ "พระที่นั่งสโมสรเสวกามาตย์ " เป็นอาคารโถงสองชั้นเปิดโล่งใช้เป็นที่ประชุมในโอกาสต่างๆ และเป็นโรงละคร ซึ่งเคยจัดแสดงละครครั้งสำคัญ 2 ครั้ง คือ เรื่องพระร่วง และวิวาห์พระสมุทร

พระราช นิเวศน์มฤคทายวัน เปิดให้เข้าชมทุกวัน ระหว่างเวลา 08.00 - 16.00 น. สำหรับผู้เข้าชมเป็นหมู่คณะ ต้องทำหนังสือถึงผู้กำกับการกองบังคับการฝึกพิเศษ ค่ายพระรามหก อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี โทร. (032) 471388 , 471130

พระราชวังบ้านปืน

พระราชวังบ้านปืน

พระราชวังบ้านปืน หรือ พระรามราชนิเวศน์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้สร้างด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพื่อเป็นพระราชนิเวศน์ สำหรับประทับแรมในฤดูฝน ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดซื้อที่จากราษฎร และให้จอมพลเรือสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้า บริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต กับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นแม่กองจัดการก่อสร้าง สร้างแบบสถาปัตยกรรมยุโรป ออกแบบโดยมิสเตอร์คาลเดอริง ชาวเยอรมัน

เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2452 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2459 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามว่า พระที่นั่งศรเพ็ชรปราสาท และทรงเปลี่ยนเป็น"พระรามราชนิเวศน์" ปี พ.ศ. 2461 ใช้เป็นที่รับรองแขกเมือง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ใช้เป็นที่ตั้งของโรงเรียนผู้กำกับลูกเสือ โรงเรียนฝึกหัดครูเกษตรกรรม โรงเรียนประชาบาลประจำตำบล ฯลฯ

การเข้า ชมต้องทำหนังสือล่วงหน้าถึงผู้บังคับการจังหวัดทหารบก กองพันที่ 3 กรมทหารราบที่ 11 อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี 76000 หรืออาจติดต่อที่ป้อมยามแลกบัตรเพื่อขอเข้าชมอย่างไม่เป็นทางการ

อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด

Khao Samroiyod National Park

อุทยานแห่งชาติสามร้อยยอด

ตั้งอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของกิ่งอำเภอสามร้อยยอด ตามตำนานเล่าว่าเดิมเคยเป็นทะเลที่มีเกาะแก่งมากมาย เรือสำเภาจีนเดินทางค้าขายผ่านมาและเกิดอัปปางลง ลูกเรือว่ายน้ำหนีขึ้นฝั่งรอดชีวิต 300 คน จึงตั้งชื่อว่า "เขาสามร้อยรอด" แล้วเพี้ยนมาเป็น "เขาสามร้อยยอด" ซึ่งพ้องกับลักษณะ 4 ภูมิประเทศ ที่เป็นเขาหินปูนมากมายนับไม่ถ้วนนั่นเอง เป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลแห่งแรก

ด้วยเนื้อที่ 98 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศประกอบด้วยเทือกเขาหินปูนสลับซับซ้อน ลำคลอง และที่ราบน้ำท่วมถึง เกิดเป็นทุ่งหนองมีพืช ปลา สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ค่างแว่นถิ่นใต้ เลียงผา นก ซึ่งมีทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพมากมายถึงกว่า 300 ชนิด เป็นระบบนิเวศแห่งพื้นที่ชุ่มน้ำที่สมบูรณ์และมีความสำคัญในระดับประเทศ

หาดสวนสนประดิพัทธ์

หาดสวนสนประดิพัทธ์

อยู่ห่างจากหัวหินไปทางทิศใต้ประมาณ 9 กิโลเมตร โดยมีทางแยกจากถนนเพชรเกษมที่ กม. 240 เข้าไปประมาณ 500 เมตร มีรถโดยสารจากหัวหินไปยังสวนสนทุก 20 นาที บริเวณชายหาดมีที่พักลักษณะเป็นบังกะโล เรือนแถว และห้องพัก ไว้คอยให้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย

หาดหัวหิน

ชายหาดอันเป็นแหล่งท่องเที่ยวพัก ตากอากาศที่มีชื่อเสียงแห่งแรกของเมืองไทย ด้วยน้ำทะเลใส ทรายสะอาด บรรยากาศดี จึงเป็นที่ใฝ่ฝันและได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมานานทุกยุคทุกสมัย